วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พลังความอยากรู้อยากเห็นในการโค้ช (The Power of Curiosity in Coaching)

ความอยากรู้อยากเห็นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์สามารถตั้งคำถาม “ทำไม” ได้ เนื่องจากเราเป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่มีเหตุผล จึงทำให้อยากรู้อยากเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เป็นปริศนาให้คิด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มองเห็นไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตล้วนแต่น่าฉงนสนเท่ห์ด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ชีวิตมนุษย์เองก็เป็นสิ่งน่ารู้น่าเห็นไม่น้อยกว่าโลกและจักรวาล ความอยากรู้อยากเห็นความอยากหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ที่สงสัยไม่เข้าใจ เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่ยอมอยู่เฉยมุ่งแสวงหาความรู้ ตราบใดที่มนุษย์ไม่ได้ความรู้ที่ต้องการ จิตที่อยากรู้อยากเห็นก็จะไม่มีวันมีสงบ โดยเหตุที่ความรู้เป็นสิ่งไม่มีขอบเขตจำกัดและจับต้องไม่ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องแสวงหาความรู้สืบต่อกันไปเรื่อยๆ โดยไม่สิ้นสุด นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องแลกกับการเป็นสัตว์โลกที่มีเหตุผล



ปรัชญากับความอยากรู้อยากเห็น

ปรัชญาเป็นการมองดูโลกและชีวิตแบบลึกซึ้ง หลายคนอธิบายว่าปรัชญาเป็นวิธีการคิดและแสวงหาความรู้โดยใช้เหตุผล ปรัชญาเป็นวิธีการวิเคราะห์ความรู้และภาษาในศาสตร์ต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ธรรมชาติของปรัชญาคือการใช้เหตุผลวิเคราะห์ วิพากษ์ และสังเคราะห์ให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ในสมัยที่ศาสตร์ต่างๆ ยังไม่เกิดขึ้น ปรัชญาเป็นศาสตร์เดียวที่ศึกษาเกี่ยวกับโลกและชีวิต แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเช่นกัน 

ปรัชญากับศาสนา

ศาสนาเกิดก่อนปรัชญา และมีแหล่งที่มาไม่เหมือนกัน “ศาสนาเกิดจากความกลัวและเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ แต่ปรัชญาเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นและเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลหาความจริง” ดังนั้นศาสนาและปรัชญาต่างก็มีเอกลักษณ์ประจำตัวคนละอย่าง ในประเทศกรีซโบราณที่เป็นบ่อเกิดของอารยธรรมตะวันตก ปรัชญาเกิดขึ้นเมื่อปัญญาชนไม่พอใจคำอธิบายของศาสนาเกี่ยวกับโลกและชีวิตโดยการอ้างอิงอำนาจของเทพเจ้าหรือพลังเหนือธรรมชาติและพยายามหาคำอธิบายใหม่ที่มีเหตุมีผล พัฒนาการของปรัชญาเริ่มจากงานของโสเครตีสและขึ้นสู่ระดับสูงสุดในสมัยของเพลโตและอริสโตเติล

อาจกล่าวได้ว่า “การโค้ช” ถูกพัฒนามาจากปรัชญา สังเกตได้จากการที่โค้ชช่วยให้โค้ชชี่คิดและแสวงหาความรู้โดยใช้เหตุผลด้วยตัวเอง ดังนั้นโค้ชโดยปริยายควรมีความอยากรู้อยากเห็น โดยการใช้การกระทำหรือพฤติกรรมการ “ถาม” นั่นเอง 

ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็อาจเป็นได้ว่า “ศาสนาใช้วิธีบอกให้ผู้อื่นเชื่อและรับฟัง แต่ปรัชญาใช้วิธีถามและฟังผู้อื่นเพื่อหาเหตุผล” 

“การโค้ช” จึงมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับ “ปรัชญา ความอยากรู้อยากเห็น การถาม และ การหาเหตุผล”  

ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ 

มนุษย์เติบโตมาพร้อมกับความอยากรู้อยากเห็น เราจะเห็นความอยากรู้อยากเห็นอย่างชัดเจนจากเด็กซึ่งมักมีคำถามง่ายๆ กับพ่อแม่ตลอดเวลา เช่น นั่นคืออะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น  และสิ่งนี้ก็คือสิ่งที่นำพลังและความมีชีวิตชีวาเข้ามาสู่การโค้ช เพราะความอยากรู้อยากเห็นเป็นคุณสมบัติที่น่าอัศจรรย์เพราะดูเหมือนจะนำมาใช้เล่นๆ แต่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ความอยากรู้อยากเห็นจะช่วยเปิดประตูที่ปิดตายและถูกลืมของโค้ชชี่ให้ถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง (curiosity presents a paradox: it has a wonderful quality of playfulness; and yet, in practice, it is a powerful way of opening doors that the client has closed, locked and forgotten)

บทบาทของโค้ชในที่นี้คือการใช้ทักษะการถามอย่างทรงพลัง (powerful questioning) เพื่อเริ่มจะเปิดประตูเหล่านั้น  ซึ่งคำถามประเภทนี้จะไม่มีคำตอบที่ตั้งใจในใจของผู้โค้ชถาม 

ลองมาทำความเข้าใจคำถามที่มาจากความอยากรู้อยากเห็น ในกรณีตัวอยา่งที่โค้ชชี่มีเป้าหมายลดน้ำหนักตัวเองต่อไปนี้ครับ  

ก. คำถามปลายปิด "คุณต้องออกกำลังกายมากแค่ไหนต่อสัปดาห์"

ข. คำถามปลายเปิด "คำว่า หุ่นที่ฟิต สำหรับคุณมันหมายถึงอะไร"

โดยเฉพาะจากคำถามปลายเปิดข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าความอยากรู้อยากเห็นของโค้ชจะช่วยให้เกิดการสำรวจค้นหาอย่างมีพลังของโค้ชชี่ ซึ่งหมายถึงการที่โค้ชได้เสริมแรงให้โค้ชชี่ใช้ความสร้างสรรค์และศักยภาพของตนมาช่วยในการตอบคำถามที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น

กล่าวได้ว่าคำถามที่ทรงพลังนี้มาจากความอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง 

ถ้าโค้ชสามารถใช้แต่คำถามทรงพลังกับโค้ชชี่อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการแนะนำหรือให้คำตอบกับโค้ชชี่ได้ หรือที่เรียกว่า pure coaching โค้ชจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโค้ชชี่อย่างน่าอัศจรรย์ 

นิยามคำถามที่ทรงพลังจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ

การถามแบบทรงพลังคือความสามารถในการใช้คำถามสามารถเปิดให้เห็นถึงข้อมูลที่ต้องการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของความสัมพันธ์ระหว่างโค้ชและโค้ชชี่

1. ใช้คำถามที่สะท้อนถึงการฟังเชิงรุกและความเข้าใจในมุมมองของโค้ชชี่

2. ใช้คำถามที่ปลุกให้เกิดการค้นพบ การเห็นแจ้งและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ความมุ่งมั่น หรือ การกระทำ (ทั้งหลายที่ท้าทายสมมุติฐานของโค้ชชี่)

3. ใช้คำถามปลายเปิดที่สร้าง ความกระจ่างชัดที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ความเป็นไปได้ หรือ การเรียนรู้ใหม่ๆ

4. ใช้คำถามที่ส่งให้โค้ชชี่ก้าวไปข้างหน้าตามที่เขาปรารถนา ไม่ใช่คำถามที่ถามเพื่อให้โค้ชชี่ก้าวถอยหลัง

คุณสมบัติของคำถามที่ทรงพลัง

1. สั้น กระชับ 
2. ตรงๆ ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน 
3. มาจากความอยากรู้อยากเห็นที่แท้จริงตามธรรมชาติ
4. เกิดจากความคิดสร้างสรรค์
5. ช่วยการสะท้อนความคิดของโค้ชชี่
6. ไม่สามารถตอบได้ทันทีทันใด ควรต้องใช้เวลาคิด

ตัวอย่างคำถามที่ทรงพลัง 

• คุณต้องการอะไร (What do you want?)
• อะไรที่มันหยุดคุณอยู่ (What’s holding you back?)
• อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณไม่ก้าวไปข้างหน้า (What is it costing you to continue holding back?)
• คุณสามารถเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไร (How do you want to change your mind’s programming on that topic?)
• อะไรคือนิสัยแบบใหม่ที่จะช่วยให้คุณก้าวไปข้างหน้าได้ (What new habits will you put in place to fortify your new mindset?)
• อะไรคือการกระทำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่คุณสามารถทำได้ในขณะนี้ (What is the most meaningful action you could take now?)
• อะไรคือทักษะใหม่หรือการสนับสนุนที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ (What new skills or support systems will ensure your success?)

การสร้างความอยากรู้อยากเห็น

วิธีเริ่มต้นการอยากรู้อยากเห็นที่ดีที่สุดคือการจริงใจและซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ไม่เสแสร้งว่าอยากรู้อยากเห็น ให้ลองนึกถึงเวลาที่เราเกิดความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆ ในโลกนี้อย่างเป็นธรรมชาติ ใช้การสังเกตอารมณ์ ความรู้สึก และ การรับรู้ของตัวเองอย่างละเอียดอ่อนว่าธรรมชาติอันน่าพิศวงเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

สิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับการเกิดความอยากรู้อยากเห็นคืออย่าให้ระบบความเชื่อเพื่อป้องกันตนเอง (self-defeating belief systems) เช่น ความเชื่อว่าทำไม่ได้ในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็ย่อมทำไม่ได้ มาเป็นตัวหยุดความอยากรู้อยากเห็นของเรา 

คำถามที่ใช้ตรวจสอบความอยากรู้อยากเห็นของโค้ช

โค้ชอาจถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้ความอยากรู้อยากเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ 

• มีอะไรขัดขวางให้ฉันอยู่กับปัจจุบันโค้ชชี่บ้าง ถ้ามี ฉันต้องทำอะไรกับมันบ้าง (Is anything preventing me from being fully present with this client?  If so, what do I need to do to be fully present?)

• ฉันกำลังใช้การพิพากษากับโค้ชชี่หรือใช้ความอยากรู้อยากเห็นแบบเปิดเพื่อสำรวจเขา (Am I moving into a judging mind with the client rather than remaining curious and open to learning and exploring?)

• ฉันกำลังใช้การรับรู้ของตนเองกับสิ่งที่โค้ชชี่กำลังเล่าให้ฟังหรือเปล่า (Am I projecting my own issues, concerns or interests onto what the client is sharing?)

• ฉันกำลังใช้การสมมุติฐานอะไรกับสถานการณ์ของโค้ชชี่ แล้วมันหยุดความอยากรู้อยากเห็นของฉันกับโค้ชชี่แค่ไหน (What assumptions am I making about this client and his or her situation? How might these be blocking my curious exploration with this client?)

โค้ชควรให้โอกาสและเวลาให้โค้ชชี่ได้คิด โดยให้ความอยากรู้อยากเห็นใช้เวลาทำงานของมันกับความคิดของโค้ชชี่ โค้ชต้องมีสติที่จะตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้งและสามารถอดทนรอ  คำถามที่ทรงพลังจะช่วยให้โค้ชชี่ใช้กระบวนการคิดเพื่อเกิดปัญญา แทนที่จะใช้สัญชาตญานของตนตอบ (Powerful questions knock people off their automatic pilot program and make them fly the airplane.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น