วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความสามารถในการโค้ช (Coachability)






เราสามารถโค้ชทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นใช่หรือไม่   อะไรคือปัจจัยสำเร็จที่ทำให้เกิดการโค้ช  มีกรณีใดที่เราไม่สามารถโค้ชคนใดคนหนึ่งได้หรือไม่  ถ้ามี สาเหตุมาจากอะไร

คำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่โค้ชหลายๆ คนสงสัยกันมานักต่อนัก  โค้ชบางคนตอนแรกๆ ก็คิดเชิงบวกและมีความตั้งใจอย่างสูงที่จะโค้ชคนรอบตัวเพื่อลองวิทยายุทธ์ เพราะได้ยินมาว่าการโค้ชทำได้ 360 องศาเลยทีเดียว แถมโค้ชตัวเอง (self-coaching) ก็ยังได้ ถ้าคิดเช่นนี้เราก็ควรโค้ชทุกคนได้โดยไม่มีข้อยกเว้น เรียกว่าเมื่อโค้ชตั้งใจจะโค้ช โค้ชชี่ก็น่าจะไม่มีข้อขัดแย้งอะไร

ส่วนโค้ชบางคนเมื่อลองโค้ชไปโค้ชมา ลองผิดลองถูกแล้วยังไม่ได้ผล เพราะพยายามโค้ชแทบตายบางทีก็ไม่ได้เรื่อง และพอเกิดแบบนี้ขึ้นมาบ่อยๆ โค้ชเองก็อาจขาดกำลังใจและใช้เป็นข้ออ้างที่จะ ไม่พยายามโค้ชคนบางคนเอาซะเลย เพราะถือว่า โค้ชไม่ขึ้น” (คล้ายๆ กับขุนไม่ขึ้น) สุดท้ายก็กลับมาใช้วิธีการสั่ง บอก แนะนำอย่างเดิมดีกว่า ง่ายดี

จากมุมมองทางวิชาการของผม เรากำลังพูดถึงเรื่อง ความสามารถในการโค้ชกันว่าโค้ชชี่นั้น “coachable” หรือไม่ แค่ไหน  โดยให้พิจารณาว่าคนที่สามารถ รับหรือยอมรับการโค้ชได้ (coachable people) นั้นมีลักษณะอุปนิสัยเด่นๆ ดังนี้

1.      ความถ่อมตน (humility)

หมายถึง การยอมรับและยึดถือ หลักการเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ยึดถือ ตัวเองเป็นที่ตั้ง ผู้ที่มีความถ่อมตนจะยอมรับว่ามีบางสิ่งที่เขาต้องทำ แต่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ความถ่อมตนสอนให้เรารู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงมุมมองและพฤติกรรมของตนเอง เราไม่สามารถมีความถ่อมตนจากแค่การเรียนรู้หลักการในชั้นเรียน แต่ต้องมีได้จากหัวใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง เห็นได้ว่าคนที่มีความถ่อมตนจะละซึ่งอัตตาของตัวเอง โค้ชชี่ที่ไม่มีความถ่อมตนก็ย่อมไม่ต้องการเรียนรู้จากผู้อื่น (ซึ่งในที่นี้ก็คือโค้ช) เพราะคิดว่าไม่มีสิ่งใดที่ต้องเรียนรู้และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

2.      การลงมือทำ (action bias)

เป็นคุณสมบัติของคนที่ชอบลงมือทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ประเภท Just do it โดยพวกเขาจะมีเชาว์ปัญญาด้านการแข่งขัน (competitive intelligence) และเกิดแรงจูงใจจากผลลัพธ์ของการกระทำต่างๆ คนพวกนี้จะมีความขวนขวาย ความคิดริเริ่ม และ ความมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ มากกว่าคนที่ไม่ชอบลงมือกระทำซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม คนกลุ่มหลังนี้เป็นคนที่ไม่เกิดแรงจูงใจจากการลงมือทำสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั่งมีการต่อต้านการต้องลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยซ้ำไป ตามเช่น George Bernard Shaw ได้กล่าวไว้ว่า คนมีเหตุมีผลปรับตัวเองกับเข้าโลก ส่วนคนไม่มีเหตุมีผลยืนกรานที่จะปรับโลกเข้ากับตัวเอง” (The reasonable man adapts himself to the world; the unreasonable man persists in trying to adapt the world to himself) ถ้าอ่านอัตชีวประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงจะพบว่าคนเหล่านั้นมี action bias ที่เข้มแข็งมากกว่าคนที่มีในระดับต่ำหรือปานกลาง (คงเคยได้ยินที่ว่าทุกคนสามารถฝันต่างๆ นานาได้แต่ผู้ที่ทำฝันให้กลายเป็นจริงมีแค่นิดเดียว ก็คือคนพวกนี้หละ) เมื่อกลับมาเรื่องการโค้ชจะเห็นได้ว่าโค้ชชี่ที่ไม่ใช่คนประเภท action bias ก็จะไม่ค่อยสนใจที่จะรับการโค้ชตามธรรมชาติของพวกเขา

3.      ความชัดเจนของวิสัยทัศน์ (clarity of vision)

เป้าหมายหรือจุดประสงค์ของโค้ชชี่ต้องมีอยู่ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องอยู่ในใจ อยู่ในความคิดบ้าง แม้ว่าออกจะมัวๆ ลึกๆ ยุ่งเหยิงอยู่สักหน่อย ถ้าโค้ชชี่ไม่มีวิสัยทัศน์หรือความต้องการที่จะได้รับอะไรเลย การโค้ชก็อาจไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะไม่มีการเสนอ-การสนองของทั้งสองฝ่าย โค้ชชี่งานที่ต้องการอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเพียงเชื่อว่าจะได้บางสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับเขาจากการโค้ชจะเกิด แรงจูงใจส่งผลให้สามารถเรียบเรียงความคิด อารีอารอบ ไม่ขัดขืน ไม่ต่อต้านในกระบวนการโค้ช ซึ่งต่างกันกับการที่เขาเกิด ความกลัวซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมที่เขาไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ กังวล เครียด อึดอัด โต้แย้ง ไม่ยอมรับ ฯลฯ  เวลาโค้ชถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ 10-15 นาที โค้ชจะถามโค้ชชี่เสมอว่าต้องการอะไรจากการพูดคุยหรือการโค้ชครั้งนี้ และถ้าโยงเข้าไปถึงเรื่องสมองกับการโค้ช สมองส่วนที่ใช้คิด (prefrontal cortex) ของเรามีความจุจำกัดมาก สมองต้องการความชัดเจนเพื่อคิดให้แจ้งชัด การที่โค้ชใช้คำถามแต่ละครั้งต้องเป็นการกระตุ้นอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เขาคิดเห็นทางออก (solution) ในอนาคต และเพื่อไกลจากปัญหา (problem) ในอดีต

4.      ความตั้งใจที่จะยอมอยู่ใต้การดูแลควบคุม (willingness to surrender control) 

การโค้ชนับว่าเป็นการร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายคือโค้ชและโค้ชชี่ที่ต้องการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน ตลอดทางเดินของการโค้ชทั้งสองฝ่ายจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับตามแต่สถานการณ์ ถ้าโค้ชชี่ไม่มีความตั้งใจในตอนแรกที่จะต้องทำตามสิ่งต่างๆ ที่โค้ชขอให้ทำในกระบวนการโค้ชตั้งแต่แรกแล้ว เช่น ไม่อยากจะเล่าประเด็นความท้าทายของตนให้ฟัง ไม่ต้องการตอบคำถาม ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่อยากได้รับผลการเปลี่ยนแปลงใดๆ การโค้ชก็ย่อมไม่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าถ้าโค้ชชี่ไม่ยอมอยู่ใต้การดูแลควบคุมของโค้ช (เพื่อใช้กระบวนการโค้ชกับตน) ผลใดๆ จากการโค้ชก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ทั้งนั้นทั้งนี้เป็นไปตามหลักการที่ว่าไม่มีใครบังคับใครได้ในการโค้ช

5.      ศรัทธา (faith)

คือความเชื่อของโค้ชชี่ที่มีต่อตัวโค้ช กระบวนการโค้ช และ ผลของการโค้ชที่จะมาถึงไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ ความคิดทั้งสิ้น ถ้าปราศจากศรัทธาแล้วโค้ชชี่จะไม่เชื่อว่าการโค้ชมีพลัง คล้ายๆ กับตัวอย่างของ การดูหมอ การสะกดจิต หรือ แม้กระทั่งการนับถือศาสนา ที่จะไม่เกิดขึ้นหรือประสบความสำเร็จเพราะการปิดตนเองของผู้ใดผู้หนึ่ง โค้ชในที่นี้ควรมีบทบาทเป็นผู้นำที่ต้องสร้างความเชื่อ 4 ประการ ได้ผู้นั้น เชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจ อันจะนำสู่ผลคือ ศรัทธา

ความสามารถในการโค้ชจะเกิดขึ้นมากน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลยแต่อย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของปัจจัยต่างๆ ข้างต้น การโค้ชเชิงพุทธกล่าวว่าถ้าโค้ชกันไม่ได้ก็ต้องใช้หลักการ ปล่อยวางคือปล่อยเขาไปก่อน เมื่อพร้อมจึงค่อยทำการโค้ชกัน ส่วนเทคนิคการบริหารการโค้ชคือหาจุด win-win ระหว่างโค้ชและโค้ชชี่ให้ได้ อย่างน้อยคนสองคนน่าจะมีอะไรที่ลงตัวกันบ้าง  แต่ถ้าไปเจอคนที่ไม่ถ่อมตน ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่สนใจเป้าหมายในชีวิตของตนเอง ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้อื่น และ ขาดศรัทธากับโค้ชหรือกระบวนการโค้ช ก็ฟันธงไปได้เลยว่าโค้ชกันชาตินี้ไม่ได้แน่

ทางปฏิบัติหลายๆ คนในองค์กรควรรู้บทบาทและมีประสบการณ์ เป็นทั้งโค้ชและโค้ชชี่ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงหัวใจของการโค้ช



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น