อารมณ์สามารถจำแนกออกได้ง่ายๆ สองประเภทใหญ่ได้ผู้นั้น อารมณ์สุข คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความสบายใจ หรือ สมหวัง และ อารมณ์ทุกข์ คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่สบายใจ หรือ ไม่สมหวัง
การตอบสนองทางอารมณ์ ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
• ความรู้สึก เช่น ความโกรธ ความปลื้มปิติ ความเศร้าโศก
• ปฏิกิริยาทางอารมณ์ เช่น การวิ่งหนีจากสิ่งที่เรากลัว
• การตอบสนองทางระบบประสาทอิสระ เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้นและเหงื่อออกบริเวณฝ่ามือเมื่อตกใจกลัว
• พฤติกรรมที่แสดงออกมา เช่น การยิ้ม หน้านิ่วคิ้วขมวด
เมื่อเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ข้างต้นกันบ้างแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าโค้ชมีบทบาทอย่างไรกับ “การจัดการอารมณ์” (Emotional Regulation) ของโค้ชชี่ เห็นได้ว่าในระหว่างการโค้ช โค้ชชี่ย่อมอยู่ในห้วงของอารมณ์ต่างๆ ตามสถานการณ์และความรับรู้ของตน โค้ชมีทางเลือก 3 ทางหลักๆ ในการรับมือกับอารมณ์ของโค้ชชี่
ทางเลือกที่ 1 - ให้โค้ชชี่แสดงออกซึ่งอารมณ์ที่มีอยู่ในขณะนั้นออกมา (Expression)
เช่น ถ้าเขากำลังเสียใจก็อนุ¬ญาตให้ร้องไห้หรือแสดงความโกรธ แต่ในหลายๆ สถานการณ์โค้ชต้องระวังว่าการให้เขาแสดงออกซึ่งอารมณ์เหล่านี้ออกมานั้นอาจไม่เหมาะสมเพราะจะทำให้เขาติดอยู่กับห้วงแห่งอารมณ์ (drama) เขาจะคิดไม่เป็นระบบ
ทางเลือกที่ 2 - ให้โค้ชชี่ระงับการแสดงออกซึ่งอารมณ์ที่มีอยู่ในขณะนั้นไว้ (Suppression)
เช่น ถ้าเขากำลังโกรธก็ให้เก็บอารมณ์เอาไว้ภายในไม่แสดงออก ตีสีหน้าว่าไม่เกิดอะไรขึ้น การทำเช่นนี้จะกระตุ้นระบบสมองที่ควบคุมอารมณ์ (limbic system) มากยิ่งขึ้น มีผลทางลบต่อความจำและรู้สึกอึดอัด
ทางเลือกที่ 3 - ให้โค้ชชี่เปลี่ยนแปลงความคิด (Cognitive Change)
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 วิธีย่อย
1. การถามแบบ Labeling เป็นการบอกถึงอารมณ์ด้วยคำพูด โดยการให้โค้ชชี่เองตระหนักถึงอารมณ์ของตนที่มีต่อประเด็นการโค้ชต่างๆ เป็นระยะๆ แล้วระบายอกมาเป็นคำพูดหรือปฏิกริยาตอบสนองต่างๆ เช่น
• คุณสามารถบรรยายความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้ออกมาเป็นคำหนึ่งคำว่าอย่างไร
• คุณรู้สึกอย่างไรกับทางออกที่เรากำลังพูดถึงอยู่
• ลองช่วยบอกถึงความรู้สึกของผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่นี้เป็นคำพูดซัก 2-3 คำว่าน่าจะเป็นอะไรบ้าง
• คุณรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อคิดถึงเรื่องนี้
• ถ้าหากให้ลองบอกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นภาพ น่าจะเป็นภาพอะไร
2. การถามแบบ Reappraisal เพื่อมองมุมใหม่ (reframe) เป็นการมองสิ่งเดิมในมุมใหม่ๆ เพื่อให้โค้ชชี่มองเข้าไปยังสถานการณ์หรือประเด็นที่รับการโค้ชอยู่จากมุมมองอื่น เช่น
• คุณสามารถคิดเรื่องที่เรากำลังคุยอยู่นี้จากมุมมองอื่นได้อย่างไร
• ถ้าเป็นคนอื่นที่กำลังเผชิญ¬กับเรื่องนี้อยู่ เขาน่าจะรับมือกับมันอย่างไร
• คุณสามารถรับมือกับเรื่องนี้แตกต่างไปได้อย่างไรถ้ามองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานแต่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
• ถ้าคุณสังเกตเรื่องนี้จากมุมมองของบุคคลคนที่สาม คุณคิดว่าเขาน่าจะมองออกมาแบบไหน
• ลองจินตนาการว่าถ้าตัวคุณในอีก 20 ปีข้างหน้า จะคิดเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างไร
3. การถามแบบ Mindfulness เป็นคำถามที่เกี่ยวกับ “สติ” ของโค้ชชี่ที่มีอยู่ต่อเหตุการณ์และประสบการณ์ในปัจจุบัน คำถามต่อไปนี้จะทำให้เขาค้นพบปัญญาที่เกิดขึ้นใหม่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น
• ในขณะที่เราคุยกันและอยู่กับประสบการณ์ในปัจจุบันนี้คุณรู้สึกอย่างไร
• ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับตอนก่อนที่เราจะเริ่มคุยกัน
• คุณรู้สึกแบบที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
• คุณสามารถอธิบายถึงเรื่องที่กำลังคุยกันนี้ในรูปของสัมผัสต่างๆ เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ได้อย่างไร
• ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้พูดถึงสิ่งต่างๆ ออกมาแล้ว
เมื่อโค้ชใช้คำถามต่างๆ ข้างต้นที่เกี่ยวกับ อารมณ์ สถานการณ์ สัมผัสทางร่างกาย หรือ ประสบการณ์ต่างๆ ของโค้ชชี่ จะทำให้ระบบสมองที่ควบคุมอารมณ์ (limbic system) ของโค้ชชี่คลายตัวลงและจะสามารถตอบโต้กับส่วนการจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่เขาอาจเกิดปัญญาในแต่ละสถานการณ์ที่เขากำลังคิดอยู่ด้วยความชัดเจน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือวิธีการจัดการอารมณ์ทั้งหลายข้างต้นถูกนำมาใช้โดยศาสตร์หลายแบบและบุคคลหลายอาชีพ แต่สำหรับการโค้ชแล้วโค้ชจะไม่แนะนำ ให้แนวทางการปฏิบัติ ใช้กุศโลบาย ฯลฯ กับวิธีการเหล่านั้นโดยตรง แต่จะใช้ในรูปของ “การถามที่ทรงพลัง” (Powerful Questioning) ซึ่งทำให้โค้ชชี่เกิดการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง (Self-Direct Learning) ซึ่งในกรณีนี้เป็นการนำเอาพฤติกรรมภายในของโค้ชชี่ออกมาให้เขาเข้าใจภายนอกนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น